Thai CSR Network

(www.thaicsr.com)

รัฐ เกี่ยวอะไรกับ CSR


ยังจำได้ว่า เมื่อตอนที่เข้าไปผลักดันงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในหน่วยงานของรัฐ มักจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า "ภาครัฐไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเรื่องซีเอสอาร์ มันเป็นเรื่องของภาคธุรกิจเขามิใช่หรือ" หรือได้รับคำตัดพ้อทำนองว่า "แค่ภารกิจที่มีอยู่ก็มากพออยู่แล้ว ทำไมต้องไปหยิบเรื่องพรรค์นี้มาทำด้วย เราเชี่ยวชาญซะเมื่อไร ปล่อยให้ธุรกิจเขาทำไปเถอะ"

แม้ห้วงเวลานั้น จะได้มีโอกาสอธิบาย ถึงความเกี่ยวข้องของภาครัฐ กับงานซีเอสอาร์ จนเป็นที่เข้าใจกันในหมู่ผู้ร่วมเคลื่อนงานในขณะนั้น มาวันนี้ คำถามดังกล่าว ก็ได้หวนกลับมาให้ได้ยินอีกครั้งจากเจ้าหน้าที่กลุ่มใหม่ๆ ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องซีเอสอาร์ ซึ่งเป็นบทบาทของภาคธุรกิจเป็นคำรบสอง

หากมองย้อนกลับกัน จะพบว่าในสมัยหนึ่ง นักธุรกิจก็เคยตั้งคำถามทำนองเดียวกันนี้ว่า "ธุรกิจไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเรื่องดูแลสังคม มันเป็นเรื่องของภาครัฐเขามิใช่หรือ" หรือที่แข็งกร้าวหน่อย ก็จะกล่าวว่า "ธุรกิจมีหน้าที่ในการแสวงหากำไร ใครที่คิดจะช่วยเหลือสังคม ก็ไปตั้งมูลนิธิไป"

แต่ยุคสมัยนี้ นักธุรกิจกลับยอมรับบทบาทของการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม ไปพร้อมๆ กับการดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร ภายใต้บริบทของซีเอสอาร์ หลายองค์กรธุรกิจมีการตั้งหน่วยงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมขึ้นเป็นการเฉพาะ กระทั่งถึงการตั้งตำแหน่งผู้รับผิดชอบงานด้านซีเอสอาร์ขึ้นในองค์กรให้ทำหน้าที่ "เจ้าหน้าที่บริหารความรับผิดชอบประจำองค์กร" (Corporate Responsibility Officer: CRO) เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสังคมอย่างเต็มเวลา

คำถามมีต่อว่า "แล้วการทำงานของหน่วยงานภาครัฐมีอะไรที่บกพร่องหรือไร ธุรกิจถึงต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลสังคมร่วมด้วย" ข้อคำถามนี้ มิได้มีเจตนาจะให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องมาตอบคำถามที่ทำให้วงแตกหรือต้องค้นหาเหตุผลเพื่อปกป้องการปฏิบัติหน้าที่ของตนแต่ประการใด เพียงแต่ต้องการใช้คำถามเพื่อตอบคำถามที่ว่า "เหตุใด รัฐจึงต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องซีเอสอาร์"

สาเหตุที่ธุรกิจต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องซีเอสอาร์กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ประการแรก เกิดจากความตระหนักในปัญหาของสังคมที่ไม่อาจดูดาย หรือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยลำพัง อันเนื่องมาจากความซับซ้อน และปริมาณของปัญหาที่เพิ่มขึ้น ประการที่สอง เกิดจากความสำนึกรับผิดชอบว่า ตนเองมีส่วนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการประกอบธุรกิจไม่มากก็น้อย จึงต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และ ประการที่สาม เกิดจากข้อกำหนดทางกฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้มีการบรรจุเรื่องของซีเอสอาร์ไว้เป็นข้อปฏิบัติทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามในฐานะพลเมืองที่ดี เพื่อให้กิจการเป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถดำเนินงานได้ด้วยความราบรื่น แม้จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม

พันธกิจของหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง ล้วนมีจุดร่วมเดียวกัน ได้แก่ การให้บริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งก็คือ สังคม ฉะนั้นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility : SR) สำหรับหน่วยงานของรัฐ จึงถือเป็นบทบาทขั้นพื้นฐาน ที่พึงมีนับตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งหน่วยงาน หน่วยงานของรัฐถือเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในงานดังกล่าว อีกทั้งสมควรที่จะดำรงบทบาทเป็นเจ้าภาพงานให้แก่ภาคอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานอีกด้วย

บทบาทของรัฐต่อธุรกิจที่ลุกขึ้นมาทำซีเอสอาร์ ด้วยเหตุผลประการแรกตามที่กล่าวมาข้างต้น คือ จะต้อง "ส่งเสริม" ให้ธุรกิจกลุ่มนี้ มีบทบาทในการร่วมรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเต็มที่ สามารถที่จะพัฒนาให้กลายเป็นหุ้นส่วนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships) ในการแก้ไขและพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพ มีการจัดสรรเวทีหรือพื้นที่ดำเนินงานให้อย่างทั่วถึง ตลอดจนการประกาศเกียรติคุณแก่ธุรกิจ ซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

ในกลุ่มธุรกิจที่ทำซีเอสอาร์ ด้วยเหตุผลประการที่สอง รัฐจะต้องทำหน้าที่ "สนับสนุน" การดำเนินงานทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ ทำหน้าที่สร้างการรับรู้ (Awareness) และมาตรการจูงใจ (Incentives) ให้ธุรกิจที่มีสำนึกรับผิดชอบได้พัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ที่อำนวยประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกันอย่างกว้างขวาง ตลอดจนการสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาขีดความสามารถ (Capacity Building) ในการดำเนินกิจกรรมด้านซีเอสอาร์ขององค์กรในทุกระดับ

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ทำซีเอสอาร์ด้วยเหตุผลประการที่สาม รัฐจะต้อง "สอดส่อง" การดำเนินงานของธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้ผลกระทบจากกิจกรรมในทางธุรกิจไปก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยที่รัฐต้องมาแบกรับภาระต้นทุนของผลกระทบสู่ภายนอก (Cost of Externalities) ของธุรกิจด้วยเงินภาษีของประชาชน และหากกิจการใดยังดำเนินธุรกิจโดยละเมิดกฎระเบียบที่กำหนดไว้ รัฐก็จะต้องดำเนินการบังคับใช้ (Enforcement) กฎหมายนั้นๆ อย่างเข้มงวด

จะเห็นว่า ในปัจจุบันเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไม่สามารถที่จะผลักให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ภาครัฐและเอกชนต่างมีบทบาทของตัวในการทำหน้าที่ต่อสังคม ธุรกิจที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมก็จะถูกตำหนิและกลายเป็นจำเลยของสังคม สูญเสียทั้งภาพลักษณ์และลูกค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่หลักในการบริการสังคมส่วนรวมอยู่แล้ว หากปฏิบัติงานโดยขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม หรือปล่อยให้เรื่องซีเอสอาร์เป็นหน้าที่ของธุรกิจฝ่ายเดียว ยิ่งต้องได้รับการตำหนิและจำเป็นต้องรีบทบทวนบทบาทของตนเองเสียใหม่ว่า ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจของหน่วยงานท่านเขียนไว้ว่าอย่างไร


[Original Link]



1 ความคิดเห็น:

Anonymous Anonymous said...

เป็นความรู้ที่ดีมาก ขอบคุณมากนะคะ

11:09 PM  

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์